Book's Wisdom: คำถามร้อยบาทกับคำถามล้านบาท
คำถามร้อยบาทกับคำถามล้านบาท เขียนโดย พี่รุตม์ อานนทวงศ์ มฤคพิทักษ์ สำนักพิมพ์ KOOB

ชีวิตที่ดีควรเป็นอย่างไร?
เป็นคำถามที่หลายคนครุ่นคิดกันมาหลายพันปี แต่ก็มีอีกหลายคนที่กลับไม่เคยคิดถึงมันเลย
ผมคิดว่าชีวิตที่ดีมีส่วนประกอบ 2 อย่างในสมการ
- ความจริงของโลกภายนอก
- ความคาดหวังของโลกภายใน
โลกปัจจุบันทำให้คนส่วนใหญ่อยากพัฒนาตัวเองตลอดเวลา
เพราะ Social Media ทำให้เรื่องราวของคนระดับ Top 1% ถูกแชร์อยู่ทุกวันจนเป็นเรื่องธรรมดา แต่เรากลับไม่เคยฉุกคิดหรือตั้งคำถามเลยว่า "มันเป็นเรื่องปกติธรรมดาจริงหรือ?"
เมื่อได้สัมผัสเรื่องราวของคน Top 1% อยู่ทุกวี่วัน คนส่วนใหญ่จะมีปฏิกิริยา 3 อย่าง
- ฮึกเหิม มีไฟ พร้อมลุย และออกวิ่งเพื่อไขว่คว้า
- ตั้งคำถามว่าทำไมเราไม่ดีเท่าเขา รู้สึกว่าตัวเองยังไม่ดีพอ
- ปฏิเสธคนเหล่านั้น
แต่แท้จริงแล้วยังมีทางที่ 4 นั่นคือ "การยอมรับตัวเอง"
สมการชีวิตที่ดี =
ความจริงของโลกภายนอก - ความคาดหวังของโลกภายใน
เมื่อสมการนี้ติดลบ ชีวิตที่ดีก็ยิ่งห่างไกลเรามากขึ้นไปเรื่อยๆ "การยอมรับตัวเอง" ช่วยให้สมการนี้มีโอกาสเป็นบวกมากขึ้น
การสร้างอนาคตที่กว่า
การสร้างอนาคตที่ดีกว่านี้ คือ "การทำสิ่งสำคัญแต่ไม่เร่งด่วน"
ลองตั้งคำถามกับมันดีๆ มันไม่ใช่ว่าเรากำลังใช้วันนี้เพื่อสร้างวันข้างหน้าอยู่เรื่อยไปหรือเปล่า?
เราอยากใช้เวลาให้คุ้มค่าทุกวินาที จึงทำอะไรตอนนี้เพื่อบรรลุเป้าหมายในอนาคตเสมอ
- อ่านหนังสือ เพื่อเขียน Blog ทำ Podcast
- พักผ่อน เพื่อเติมพลังกลับไปทำงาน
- เที่ยว เพื่อทำ Vlog หรือ ถ่ายรูปเอายอด Like ใน IG กินข้าว เพื่อทำ รีวิว
สังเกตดีๆ การทำสิ่งเหล่านี้คือการยอมแลก "วันนี้" เพื่อ "พรุ่งนี้ที่ดีกว่า"
แต่วันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า วันที่เรามีเงินมากพอ พร้อมใช้ชีวิตแบบที่อยากใช้ อาจไม่มีวันมาถึง
คนที่ใช้ชีวิตเพื่อวันพรุ่งนี้มานาน ควรลองกลับมาใส่ใจการใช้ชีวิตวันนี้มากขึ้น ไม่จำเป็นต้องรอให้สำเร็จทุกอย่างแล้วค่อยอนุญาตให้ตัวเองมีความสุข
เรื่องนี้ผมหมั่นบอกตัวเองอยู่เสมอ จนช่วงหลังมานี้แทบไม่ได้รับงานนอกที่ต้อง ใช้เวลาวันเสาร์-อาทิตย์เลย เพราะผมเริ่มตระหนักได้ว่า ในวันที่เรามีเงินเก็บมากมาย แต่ถ้าคนรอบตัวเราไม่ได้อยู่ด้วยแล้ว แม้ว่ามีเงินเท่าไหร่ก็คงซื้อประสบการณ์กับคนที่เรารักกลับมาไม่ได้
เพราะนอกจาก เงิน เวลา สุขภาพ เรื่อง "ประสบการณ์" นี่แหละที่สำคัญไม่แพ้กันและบางประสบการณ์ก็ผัดผ่อนไปเรื่อยๆ ไม่ได้
ทบทวนเป้าหมายอย่างแท้จริง
เราควรทุ่มเททั้งชีวิตเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายจริงๆ หรือเปล่า?
เป้าหมายเป็นเรื่องรอง การเดินทางไปสู่เป้าหมายเป็นเรื่องสำคัญกว่า
ถ้าเราไม่ได้เดินในเส้นทางที่เราเลือก บทสรุปที่น่าเศร้าคือเราต้องเดินตามทางที่คนอื่นขีดเส้นให้เราเดิน หรือถูกสถานการณ์บังคับให้จำเป็นต้องเลือก
เราทำได้อยู่ 2 อย่าง
- ยอมรับสิ่งต่างๆ และทำตามแบบนั้นไป
- แสวงหาหนทางใหม่
ยกตัวอย่างเพื่อนผมคนนึงหลายคนน่าจะรู้จักดี แอดทอย DataRockie คนดีคนเดิม
ที่ตั้งคำถามกับตัวเองว่า "จะเป็นไปได้มั้ย ที่เราจะหารายได้เท่าเดิมโดยใช้เวลาน้อยลง"
จากที่เคยเป็นมนุษย์เงินเดือน ทำงานประจำ ก็ลาออกมาทำเรื่องการสอน Data แบบจริงจังจนสามารถทำสิ่งที่ตัวเองเคยตั้งคำถามได้สำเร็จในปีแรก แต่ไม่ใช่ว่าทำครั้งแรกแล้วจะสำเร็จ เพราะก่อนที่แอดทอยจะลาออกจากงานก็รับสอนเป็นงานเสริมมาหลายปี ทั้งคอร์สฟรีและคอร์สเก็บเงิน (ส่วนใหญ่จะฟรี 555+)
หากอยากเก่งในด้านใด ก็ต้องพร้อมอยู่กับสิ่งนั้นให้นานพอ บางทีอาจจะเบื่อหรือล้มเหลวนับครั้งไม่ถ้วน นี่เป็นหนึ่งในเคล็ดลับการแสวงหาหนทางใหม่
การรู้ว่าควรทำอะไรบ้าง ตาม Social Media หรือ Podcast นั้นสำคัญก็จริง แต่การรู้ว่าไม่ควรทำอะไรนั้นสำคัญยิ่งกว่า หลายคนที่ทำอะไรได้หลายอย่างเพราะเค้าเลือกจะไม่ทำบางอย่าง และเอาเวลาเหล่านั้นมาทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แทน
การตัดสินใจ
ชีวิตของเราในปัจจุบัน คือ ผลลัพธ์ของ "การตัดสินใจ" ในอดีตนับครั้งไม่ถ้วน ประกอบด้วยการตัดสินใหญ่เรื่องใหญ่ และการตัดสินใจเรื่องเล็กๆ
เรื่องใหญ่ เช่น เลือกคณะที่เรียน เลือกบริษัทที่ทำงาน เลือกคู่ครอง คนส่วนใหญ่มักโฟกัสที่การตัดสินใจประเภทนี้
แต่การตัดสินใจเรื่องเล็กๆ ที่เราไม่ใส่ใจ กลับส่งผลลัพธ์แบบทบต้นในระยะยาว เช่น
- ท่าที่เรานั่งทำงาน - ส่งผลกับหมอนรองกระดูกในอนาคต
- ปวดฉี่แล้วจะอั้นไว้ก่อนดีมั้ย หรือจะไปห้องน้ำเลย - โรคทางเดินปัสสาวะ
- ใครกวนตีนแล้วกวนตีนกลับเลยหรือจะเงียบ - ความสัมพันธ์
- แม่โทรมาจะตัดสายก่อนหรือรับทันที - ความสัมพันธ์
ถ้าเราตัดสินใจถูกมากกว่าผิด ก็เหมือนเพิ่มโอกาสที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดี หรือดีขึ้นกว่าเดิม สิ่งที่ช่วยให้เราตัดสินใจได้ดีขึ้น
- มีเป้าหมาย
- วางแผน
- สร้าง Habit ที่ดี
- ออกกำลังกาย
- นอนให้พอ
- หาความรู้
- ตั้งคำถามกับแนวทางที่ตัวเองยึดถือ
- ฝึกสติ
ลองตั้งใจตัดสินใจเรื่องเล็กๆ มากขึ้นอีกสักนิด เพราะคุณภาพชีวิตของเราคือผลรวมของการตัดสินใจทั้งหมด
ความเข้าใจผิดเรื่องเงินเดือนหนึ่งแสนบาท
ถ้าเรามีเงินเดือนแสนนึง ชีวิตเราน่าจะไม่ต้องการอะไรอีก?
เงินอาจซื้อความสุขไม่ได้ แต่การไม่มีเงินทำให้เกิดทุกข์แน่นอน
การมีเงินเป็นเรื่องดี ตอนผมเริ่มทำงาน เงินเดือนอยู่ที่ 12,000 เคยจินตนาการว่าถ้าได้เงินเดือน 30,000 น่าจะฟินน่าดู ไม่ต้องกังวลอะไร ใช้จ่ายได้ตามสบาย
แต่พอได้ 30,000 จริงๆ มันกลับไม่เป็นอย่างนั้นซะทีเดียว ผมซื้อของที่เคยอยากได้มากขึ้น แต่ก็ยังไม่ค่อยเหลือเก็บ และหวังว่าถ้ามีเงินเดือน 100,000 น่าจะไม่ต้องคิดอะไรมากแล้ว
และใช่ครับ วันที่ 100,000 มาถึง มันไม่ได้ฟินอะไรขนาดนั้น เพราะเรื่องภาษีก็ตามมาอีก เป็นความปวดหัวเพิ่มขึ้น การวางแผนภาษีเป็นอะไรที่หลีกเลี่ยงไมได้ การควบคุมรายจ่ายก็ยิ่งต้องเข้มงวด เพราะเรามีกำลังซื้อมากขึ้น ไอ้ "กำลังซื้อ" นี่แหละตัวอันตรายเลย
เมื่อก่อนเราเดินเข้าห้างสรรพสินค้า อาจจะซื้อได้แค่บางอย่าง แต่พอกำลังซื้อมากขึ้น ของที่เราซื้อได้ก็ยิ่งมากขึ้น หากเราไม่ระวังหรือควบคุมตัวเองให้ดี Life Style Inflation จะทำให้เรามีหนี้ที่ไม่ควรมี ซื้อในสิ่งที่ไม่จำเป็นและเร่งด่วน และอดถามตัวเองไม่ได้ว่า "ทำไมเงินเดือนเยอะ แต่ไม่มีเงินเก็บเลย?"
ข้อดีที่สุดของการมีเงิน คือ เราจะได้ไม่ต้องคิดเรื่องเงิน
ถ้าเราจัดการอะไรได้ดี เราจะเลิกคิดถึงสิ่งนั้น จัดการเวลาได้ดี เราจะไม่บ่นว่าไม่มีเวลา จัดการความสัมพันธ์ได้ดี แฟนก็จะไว้ใจไม่โทรตาม ถ้าเราจัดการเงินได้ดี ก็จะมีเงินเหลือมากพอไว้ใช้จ่ายโดยไม่ต้องรับวันรอเงินเดือนออก
ความสุขของเราอยู่ที่ไหน
มีการทดลองจากนักจิตวิทยาที่ต้องการศึกษาเรื่อง "ความสุข" ผลลัพธ์คือ คนส่วนใหญ่มักให้คะแนนความสุขตัวเองอยู่ที่ 7 เต็ม 10 ไม่มีใครมีความสุขเต็ม 10 อยู่ตลอดเวลา
7/10 = ชีวิตก็โอเค แต่น่าจะโอเคได้กว่านี้ และมีแนวคิดว่าถ้าได้ของ xxx มาชีวิตน่าจะสุขเต็ม 10
แต่ไม่ว่าจะได้ของที่อยากได้แค่ไหน ไม่นานความสุขก็จะกลับมาอยู่ที่ 7/10 อยู่ดี ย้อนไปสมัยเริ่มทำงานใหม่ๆ ผมรู้สึกว่า Honda Civic เป็นรถในฝันของผมเลย ถ้าได้เป็นเจ้าของคงจะสุข 10/10 ไปตลอดแล้วแน่ๆ คงไม่ต้องการรถคันอื่นอีก

ตัดภาพมาปัจจุบัน โอเคมันเป็นรถที่ผมใช้จริงๆ แต่มันไม่ได้สุข 10/10 มันสุขแค่ช่วงอาทิตย์แรกเท่านั้น พอเวลาผ่านไปความสุขมันก็กลับมาอยู่ที่ 7-8 และยังมีความคิดที่อยากได้รถคันใหม่อยู่ดี 5555+ (เปลี่ยนแร็กพวงมาลัยฉ่ำ)
ชีวิตคนเราจึงเป็นชีวิตที่ไล่ล่า
"10 คะแนน ในจินตนาการ" อยู่เสมอ
ยอมทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มันมา ยอมเป็นหนี้ หลายคนยอมยืมเงินคนอื่นมาเพื่อเป็นหนี้อีกที หนี้ซ้อนหนี้ แต่ความสุขก็ไม่เคยอยู่ได้นานอย่างที่คิดสักที
ผมเองเคยอยากทำงานที่บ้าน ไม่ต้องเดินทางน่าจะฟินน่าดู แต่พอ COVID-19 มา โลกก็เปลี่ยน การ Work From Home กลายเป็นเรื่องปกติขึ้นมา แรกๆ ผมก็มีความสุข 10/10 จริงๆ แต่พอทำไปสักพักมันก็ไม่ฟินอย่างที่คิด เพราะต้องเจอกับความรู้สึกทำงานอยู่ตลอดเวลาจนไม่ได้พัก

และการทำงานแบบ Remote ตลอดเวลาก็มีผลเสียหลายอย่าง จนปัจจุบันแม้ว่าจะทำ Work From Home ได้ ผมก็อยากเข้าไปออฟฟิศอยู่ดี เพราะมันคุยกันจบ และไม่ต้องใช้บ้านมาเป็นที่ทำงาน
พี่รุตม์สรุปในเล่มนี้ได้น่าสนใจมาก
"ความทุกข์น่ะมีจริง แต่ความสุขมันไม่จริง ความสุขคือทุกข์น้อย ถ้าไม่ทุกข์เลย ความสุขคุณจะสูงสุด"
"ชีวิตที่ดีไม่ใช่ชีวิตที่ไม่ลำบาก แต่เป็นชีวิตที่เราสามารถรับมือกับทุกความลำบากที่เราต้องเจอ"
คำถามร้อยบาทกับคำถามล้านบาท
เรามักเห็นคำถามของ Financial Guru ที่ว่า ถ้าไม่กินกาแฟยี่ห้อ XXX กี่สิบปีจะมีเงินเก็บ YYY บาท จริงอยู่ว่าการตั้งคำถามกับเรื่องเล็กน้อยแบบนี้ก็มีความสำคัญ แต่ตามกฎ Pareto 80/20 บอกว่าสิ่งเรานี้จะไม่มีความหมายเลย ถ้าเราไม่จัดการเรื่องใหญ่ๆ ให้ถูกต้อง
แทนที่จะมานั่งคำนวณเรื่องการเลือกกินกาแฟยี่ห้อไหน ควรเปลี่ยนเป็นซื้อรถยนต์ยี่ห้ออะไรดีกว่า เพราะมูลค่ามันต่างกันมาก ผมเจอคนที่ตั้งคำถามเก่งๆ จนตีเป็นมูลค่ามหาศาลมาได้นักต่อนัก
พี่เล้ง MFEC "อะไรคือปัจจัยที่ทำให้คนที่เริ่มงานพร้อมกัน พื้นฐานเหมือนกัน 10 ปี เติบโตไม่เท่ากัน?"

พี่แทป รวิศ "จะเป็นไปได้มั้ย ที่ความ Loyalty ของพนักงานรุ่นเก๋า จะสามารถ Contribute ให้กับบริษัทที่กำลังจะเอา Tech ใหม่ๆ เข้ามาใช้งาน?"

แอดทอย DataRockie "จะเป็นไปได้มั้ย ที่เราจะหารายได้เท่าเดิมหรือมากขึ้นโดยใช้เวลาน้อยลง?"

ตัดกลับมาที่การตั้งคำถามที่เราควรทำ เช่น การเลือกทำงานบริษัท A กับบริษัท B ปัจจัยสำคัญในการเลือกบริษัทมี 4 อย่าง
- เงินเดือน
- เนื้องาน
- บริษัท
- เพื่อนร่วมงาน
แต่มีโอกาสน้อยมากที่เราจะได้ตามที่เราต้องการทุกอย่าง หัวใจสำคัญอยู่ที่การตั้งคำถามกับตัวเองว่าเราอะไรคือปัจจัยที่เราต้องการมากกว่า
สรุป
ผมอ่านหนังสือ "คำถามร้อยบาทกับคำถามล้านบาท" จบเร็วมาก เพราะเนื้อหาส่วนใหญ่ในหนังสือค่อนข้างตรงกับช่วงชีวิตของผม และด้วยตัวหนังสือของพี่รุตม์ Anontawong Rut Marukpitak ที่ร้อยเรียงออกมาอย่างสละสลวย จนแทบวางหนังสือลงไม่ได้ ส่วนตัวผมเป็น FC Anontawong's Musings อยู่แล้วด้วย
บทสรุปของหนังสือเล่มนี้ที่ผมได้ คือ
เราใช้เวลากับคำถามร้อยบาทมากไปหรือไม่ ใช้เวลากับคำถามล้านบาทน้อยไปหรือเปล่า?
ขอบคุณพี่รุตม์ ที่ส่งหนังสือเล่มนี้มาให้อ่านครับ

Comments ()